แนวทางการคัดไก่ตัวเมีย – แม่ไก่
เลือกหัวข้อ
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ไก่ตัวเมีย-แม่ไก่ เป็นกลไกสำคัญในการผสมพันธุ์ไก่ การผลิตไก่ชนเพราะลูกไก่ที่เกิดมาตัวผู้จะได้รับการถ่ายทอดความดีมาจากแม่ถึง 70% จากพ่อเพียง 50% นั้นคือ เราต้องยึดถือแม่ไก่หรือไก่ตัวเมียเป็นตัวสำคัญ
ทำไมส่วนใหญ่หวงตัวเมีย
#เรื่องนี้คนโบราณทราบกันมานานแล้ว จึงหวงตัวเมียกันมาก แบบชนิดไม่ยอมเผยแพร่ให้ใคร ถ้าจะให้ก็ต้องเป็นคนสนิท รักใคร่ชอบพอกันจริงๆ เพราะตัวเมียที่ดีจะต้องผสมให้ลงเหล่าแน่นอน อย่างน้อยๆก็คัดเลือกกันมา 3-4 ชั่วโคตรพอจะได้ออกมาซึ้งเป็นความลำบากและใช้เวลานานจึงหวงแหนกันนัก
การคัดเลือกไก่ตัวเมียไว้ทำแม่พันธุ์
เราควรคัดเลือกตอนไก่ตัวเมียไข่หมดชุดแล้ว ในการไข่ชุดแรกให้สังเกตดูตอนกำลังไข่ เลือกแม่ไก่ที่ให้ไข่ฟองโต ยาว มากกว่าฟองสั้นๆ เปลือกไข่กระดูกเชิงกรานกว้าง จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องไข่ไม่ออก หรือเบ่งไข่จนตาย
เมื่อจับตัว เลือกตัวที่จับกลม ยาวสองท่อน บานหัวบานท้าย ตาตรงตามสายพันธุ์คือตาปลาหมอตายหรือตาสีไพล ขอบตาเรียวสองชั้น ตาดำกลม ตาขาวมีเส้นเลือดชัดเจน จะเป็นไก่ที่มีความอดทน
แข้ง-เกล็ดกลม
มีเกล็ดพิฆาตให้เห็น นิ้วกลมยาว ขนเส้นเล็ก น้ำขนดี ขนแห้งไม่เปียก ก้านขนแข็งไม่เปราะ เมื่อได้ลักษณะดีแล้วก็เอามาลองเชิงชนกันดู โดยการมอมหน้าด้วยเขม่าหรือถ่าน คัดเลือกเอาตัวที่ชนตั้ง ไม่ลงหัว ตีแม่น ลำหนัก ปากเร็ว สาดแข้งเปล่าไว้ทำแม่พันธุ์
หลังจากคัดแม่ได้แล้ว ควรทำอย่างไร
เมื่อคัดแม่ไก่ได้แล้ว ให้นำไปถ่ายฆ่าพยาธิ ทำวัคซีนอีกครั้ง หลังจากไข่ชุดแรกหมด ให้บำรุงด้วยอาหารไก่ระยะไข่ ไก่จะเจริญเติบโตมากในระยะนี้ ไม่ควรให้แม่ไก่ที่ออกไข่ครอกแรกกกไข่เองจะทำให้แม่ไก่โทรมไม่เจริญเติบโต ลูกไก่ที่เกิดจากแม่สาวจะไม่แข็งแรง และไม่โตเท่าที่ควร
เมื่อแม่ไก่ไข่ชุดที่ 2 ไม่ควรให้แม่ไก่ตีกันอาจจะทำให้ไข่แตกในท้อง แม่ไก่จะตาย หรืออาจหยุดไข่หลายวัน การให้อาหารไก่สาวควรเร่งให้อาหารครบหมู่ โดยเฉพาะโปรตีน แร่ธาตุ พวกแคลเซียมยมจากเปลือกหอย โปรตัสเซียมจากกระดูกสัตว์ป่น ฟอสฟอรัสจากยอดไม้และดอกไม้ หรือให้แร่ธาตุ ไวตามินสำเร็จรูป เช่น ไวตามิโนบาร์ยาร์ดกริช เป็นต้น
การผสมพันธุ์
ไม่ควรให้แม่ไก่อยู่ในเล้าเป็นฝูง เพราะจะทำให้ไก่จิกตีกัน ถ้าเป็นไปได้ควรให้อยู่เล้าละตัว หรือปล่อยให้อยู่อย่างอิสระในไร่ ในสวน ในท้องนา พ่อไก่ไม่ควรให้อยู่กับแม่ไก่ตลอดวัน เพราะมันจะผสมมากทำให้แม่ไก่โทรม
#ต้องดูพ่อไก่อย่าให้มีเล็บคม ต้องหมั่นตัดให้สั้น เพราะมันจะตะกายหลัง ทำให้หลังมีบาดแผลได้ และควรตัดปลายจงอยปากพ่อไก่ออก อย่าให้แหลมคม เพราะจะจิกหัวแม่ไก่จนเกิดแผลเวลาผสมพันธุ์ และถ้าพ่อเดือยยาวต้องตัดเดือยออกให้สั้น เพื่อป้องกันเดือยทิ่มหลังแม่ไก่ หรือทิ่มก้นตัวเอง ทำให้ปล่อยน้ำเชื้อไม่สะดวก แม่ไก่จะรับน้ำเชื้อไม่เพียงพอ ซึ่งจะทำให้ไข่อาจจะตายโคมหรือเป็นไข่ข้าวได้
เมื่อแม่ไก่ไข่ชุดที่สองออกมาหมดชุดแล้ว ให้เอาไข่ไปให้แม่ไก่อื่นหรือใช้เครื่องฟัก ไม่ควรให้แม่ไก่ฟักเอง เพราะในระยะนี้แม่ไก่จะกำลังเติบโตอีก ถ้าให้ฟักไข่ แม่ไก่จะเติบโตไม่เต็มที่
เมื่อไข่ออกหมดแล้วให้นำแม่ไก่ไปอาบน้ำ สระขน ให้สะอาด ฆ่าเหา ฆ่าไรที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวไก่ให้หมด แล้วนำมาถ่ายฆ่าพยาธิ บำรุงด้วยอาหารไก่ระยะไข่ เช่นเดียวกับไข่หมดชุดแรก ประมาณ 7 วันจนกระทั่งเห็นไก่แสดงอาการจะไข่ คือ จะร้อง ก๊ากๆ หงอนแดง หน้าแดง ก้นขยาย เวลาเอามือแตะท้องจะนอน ก็ให้เอาไปปล่อยอยู่กับตัวผู้ หรือเอาไปให้ตัวผู้ทับ แม่ไก่จะไข่ภายใน 10 วันหลังไข่ชุดที่แล้ว
เมื่อแม่ไก่ไข่หมดชุด ก็ให้เลือกไข่ที่ไม่สมบูรณ์ออก เอาไข่ที่สมบูรณ์ไว้ให้แม่ไก่ฟักเอง ประมาณ 8-10 ฟอง ในขณะที่แม่ไก่ฟักไข่ ต้องเตรียมอาหาร และน้ำใส่ยาบำรุง ตั้งไว้ให้กินตลอด ระวังอย่าให้ไก่อื่นๆ หรือนกกระจอก หมา หมู มาแย่งอาหารแม่ไก่กิน
ขณะแม่ไก่ฟัก ควรให้อยู่ในเล้ามิดชิด ปลอดจากยุง และสัตว์ร้ายต่างๆ มีข้าว มีน้ำ มีอาหารบำรุง อยู่ในเล้าที่ให้ไก่อื่นมาแย่งกินไม่ได้ แม่ไก่ส่วนมากจะลงมากินอาหารวันละ 1-2 ครั้ง เช้าประมาณ 10 โมง และบ่ายประมาณ 2 โมง อย่าปล่อยให้แม่ไก่ที่กำลังกกไข่ไปหาอาหารกินเอง และอย่าให้แม่ไก่ลงไปย่ำโคลนตม จะทำให้ไก่เลอะโคลนและทำให้ฟักไม่ออก
เมื่อแม่ไก่กกไข่ ได้ประมาณ 7-14 วัน ต้องทำการตรวจไข่ ถ้าไข่ฟองไหนเป็นไข่ข้าวหรือตายโคมให้เอาออก ที่รองรังของแม่ไก่ฟักนั้น ให้เอาใบตะไคร้หอม ใบยาสูบ ใบยูคาลิปตัส รองก้นรังไข่ แล้วใช้หญ้าหรือฟางข้าวรองทับอีกครั้ง จะไม่เกิดไรหรือป้องกันไรในรังไข่ หรือใช้ “เซฟวิน 85” ห่อกระดาษพับรองไว้ก้นรังไข่ ไร เหา เห็บ จะหนีไปหมด
เมื่อแม่ไก่ฟักลูกเจี๊ยบออกมา แม่ไก่จะหวงลูกมาก ระวังอย่าให้แม่ไก่ตีกัน เพราะนอกจากแม่ไก่จะโทรมและบาดเจ็บแล้วอาจจะทำให้ลูกไก่โดนลูกหลงตายด้วย
การทำให้แม่ไก่ไม่ตีกัน
ให้ยอมแพ้กัน นั้น ให้จับแม่ไก่ตัวที่ต้องการให้แพ้ ให้แยกจากลูกออกมา แล้วนำมาโยนใส่แม่ไก่ตัวที่ต้องการให้ชนะ แม่ไก่ตัวที่ชนะจะตีแม่ไก่ตัวที่โยนใส่ แม่ไก่ตัวที่ถูกโยนเข้าไป จะถูกตีและตกใจ ประกอบกับห่วงลูกที่ร้องรออยู่ จะวิ่งหนีไปหาลูก และจะยอมแพ้ไม่สู้ตัวที่อยากให้ชนะ ซึ่งต้องทำซ้ำๆกันสัก 3-4 ครั้ง ให้แน่ใจว่าไม่ยอมสู้แล้วจึงพอ
#เมื่อแม่ไก่เลี้ยงลูกได้พอสมควรแล้ว เช่น 7 วัน 14 วัน 20 วัน 30 วัน ตามแต่เราต้องการ ให้แยกลูกไก่ออกจากแม่ไก่ ให้ไปอยู่ไกลๆอีกที่หนึ่ง ที่ไม่ได้ยินเสียงกันหรือเห็นกัน เราต้องเลี้ยงดูลูกไก่เอง และนำแม่ไก่ไปบำรุงเพื่อให้ไข่ต่อ
ในช่วงนี้ควรให้แม่ไก่ฟักเอง 1 ครั้ง ใช้เครื่องฟักหรือแม่ไก่อื่น 1 ครั้ง สลับกันไป แม่ไก่จะได้สมบูรณ์ไม่ทรุดโทรม ไม่ควรให้แม่ไก่ไข่ติดๆกันโดยไม่ฟักไข่เกิน 2 ครั้ง เพราะจะทำให้แม่ไก่อ้วน ไม่ไข่ หรือทิ้งนิสัยฟักไข่ ซึ่งเมื่อต้องการให้ฟักก็มักจะทิ้งรังไข่ ไม่ยอมฟักไข่ ทำให้ไข่เสียหายได้
การดูแลสุขภาพแม่ไก่
1. ถ่ายพยาธิทุกๆเดือน
2. จับแม่ไก่อาบน้ำยาฆ่าไร เหา เห็บ บ่อยๆ
3. ทำวัคซีนป้องกันโรคระบาดร้ายแรง ทุกๆ 3 เดือน
4. จับตรวจสุขภาพดูบ่อยๆ เช่นตรวจก้นเพื่อป้องกันก้นเหน่า
5. ระวังอย่าให้แม่ไก่จิกตีกัน
6. ให้อาหารแม่ไก่ให้ครบหมู่
7. ควรปล่อยให้มีอิสระบ้าง
8. อย่าให้ไก่หนุ่มรุมบี้ ข่มขืน จะทำให้แม่ไก่โทรม
9. ช่วงแม่ไก่ถ่ายขน ควรปล่อยให้เป็นอิสระ ขนจะได้ขึ้นงอกงามไม่ถูกจิกขนอ่อน